Corporate Insight: RPC ขอขึ้นชั้น Growth Stock ทุ่ม 3 หมื่นล้านเพิ่มกำลังผลิต 5 เท่า

BackDec 03, 2007

เปิดแผนลึก RPC ขอยกระดับตัวเองจาก Dividen Stock สู่ Growth Stock ภายใน 2 ปี ด้วยการขยายลงทุนในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเลียม ที่เป็น Core Bussiness เต็มรูปแบบ ภายใต้งบลงทุนก้อนโตกว่า 3 หมื่นล้านบาท และกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว

ศุภพงศ์ กฤษณกาญจน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์(RPC) แสดงความมั่นใจอย่างเต็มที่ ว่าจะสามารถผลักดันให้ RPC โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็ก(กำลังการกลั่น 17,000 บาร์เรลต่อวัน) ขับเคลื่อนให้เติบโตเป็นโรงกลั่นน้ำมันขนาดกลาง ที่มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 5 หมื่น - 1 แสนบาร์เรลต่อวัน ได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ด้วยงบลงทุนที่ศึกษาไว้คราวนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว

ด้วยแรงสนับสนุนของราคาน้ำในในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ราคาน้ำมันได้แตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว และเป้าต่อไปที่หลายฝ่ายคาดการณ์คือ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะเป็นสนับสนุนต่อการเติบโตของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในระยะยาว

ศุภพงศ์ บอกว่า ภายใน 1-2 ปี แผนการทั้งหมดที่ร่างไว้ จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา หุ้น RPC จะยกระดับจาก Dividend Stock(หุ้นปันผล) เป็น Growth Stock ที่คนไทยทุกคนอยากจะเป็นเจ้าของ

"เราเป็น Dividend Stock มาเป็นเวลา 3 ปี จากนี้ไปขอยกชั้นเป็นหุ้น Growth Stock จะมี story ในเชิงการเติบโตให้เห็นมากขึ้น ทุกอย่างเราเตรียมการณ์ไว้แล้ว ใช้เวลาไม่เกิน 1-2 ปี จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของ RPC อีกครั้ง และเราคาดหวังว่า RPC จะเป็นบริษัทที่คนไทยทุกคนอยากเป็นผู้ถือหุ้น" ศุภพงศ์ กล่าว

ผลการดำเนินงานย้อนหลังของ RPC ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ในเห็นแล้ว RPC คือ หุ้น Dividend Stock ตัวจริงเสียงจริง ในปี 2549 อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน(Dividend Yield) สูงถึง 8.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่อยู่ที่ 8.44% และปี 2547 อยู่ที่ 2.84%

ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ RPC จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลอีกหุ้นละ 0.12 บาท เทียบกับราคาหุ้นแล้ว Dividend Yield ยังสูงถึง 8.5% ถือว่าไม่น้อยเลย เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ที่อยู่ในอัตราเฉลี่ย 3-3.5% เท่านั้น

การจ่ายเงินปันผลในระดับสูงได้ ส่วนหนึ่งมาจากผลการดำเนินงานในงวดที่ผ่านๆ มา มีอัตราการเติบโตที่ดี ปี 2549 RPC แสดงกำไรสุทธิกว่า 183.38 ล้านบาท ส่วนปี 2548 กำไรมากถึง 367.08 ล้านบาท และปี 2547 กำไรมากถึง 424.29 ล้านบาท เลยทีเดียว

RPC ก่อตั้งเมื่อต้นปี 2538 เพื่อดำเนินการกลั่นแปรสภาพ คอนเดนเสท เรสซิดิว (Condensate Residue) ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลพลอยได้ (by product) จากกระบวนการผลิตของ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีที่มีคุณภาพได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เคมีภัณฑ์ และน้ำมันเตา ขนาดโรงกลั่น 17,000 บาร์เรลต่อวัน

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ RPC ผลิตเองได้แล้ว บริษัทยังได้จัดซื้อน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายรายอื่นเพื่อมาจำหน่าย รวมถึงการบริหารคลังน้ำมัน 4 แห่ง เพื่อจัดจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปทั้งค้าส่ง และค้าปลีก ภายใต้สถานีบริการน้ำมันที่ชื่อ PURE

ศุภพงศ์ บอกว่า อุตสาหกรรมน้ำมันมีแนวโน้มเติบโต จึงเป็นจังหวะที่ดี ที่ RPC จะเริ่มต้นขยายธุรกิจอีกครั้ง เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ Growth Stock ที่วางไว้ หลังจากประเมินแล้วว่าฐานะการเงินในปัจจุบัน บริษัทยังหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาสนับสนุนการลงทุนได้อย่างไม่ขัดสน

"ที่ผ่านมาเราลงทุนโครงการเดิมๆ หมดแล้ว สัดส่วนหนี้สินต่อทุนระดับก็อยู่ในระดับต่ำ เรามีความสามารถกู้เงินได้ถึง 2-3 พันล้านบาท ถือว่ามีความพร้อมที่จะเติบโตได้อีกครั้ง เมื่อมองย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน เราเติบโตจากระดับสินทรัพย์ 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันสินทรัพย์สูงขึ้นเป็น 3 พันกว่าล้านบาท

คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่

ดังนั้นหากต้องการจะโตอีก 5 เท่าจากปัจจุบัน ต้องมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้ คือ การเพิ่มผลิตภัณฑ์หรือขยายโรงงาน เราจึงมองที่ขนาดกำลังการผลิตน่าจะอยู่ที่ 50,000 -1 แสนบาร์เรลต่อวัน" ศุภพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ 1-2 ปีที่ผ่านมา RPC ได้ลงทุนในโครงการเดิมๆ เรียบร้อยแล้ว ทั้งการสร้างโรงกลั่นไบโอดีเซล ขนาดกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี หรือเท่ากับ 300,000 ลิตรต่อวัน โดยจะลงทุนร่วมกับ บริษัท เพียว ไบโอดีเซล จำกัด (PBC) ด้วยงบลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนส.ค.51 นอกเหนือจากการเปิดสถานีบริการน้ำมัน PURE 100 แห่งทั่วไทย ที่ใกล้เสร็จสมบูรณ์เต็มที

ศุภพงศ์ บอกว่า สิ่งแรกที่ต้องเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจตอนนี้ คือ การหาแหล่งทุนให้เพียงพอต่อการรองรับการสั่งซื้อวัตถุดิบที่จะต้องนำมาใช้หากเพิ่มผลิตภัณฑ์ต้องใช้วงเงินขนาดใหญ่ อาจจะสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท แต่ก่อนจะขอวงเงินมากขนาดนั้น บริษัทต้องจัดเตรียมแผนขยายธุรกิจ เพื่อนำเสนอให้กับสถาบันการเงินให้พิจารณา และยอมรับในโครงการที่จะขยายครั้งนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงาน

"แผนการขยายธุรกิจทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ ต้องเน้นที่สร้างมาร์จินที่มากขึ้น พร้อมทั้งหาแหล่งทุนสนับสนุน ในเวลาเดียวกันต้องมองถึงการบุกตลาดต่างประเทศด้วย เราคาดว่าจะพิจารณาทุกอย่างได้จบได้ภายในปีหน้า หากเป็นไปตามแผนน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี"ศุภพงศ์ กล่าว

ศุภพงศ์ บอกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ RPC จะขยายนั้น ยังคงยึด Core Bussiness เป็นหลัก โดยจะอยู่ในกลุ่มปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และพลังงานทดแทน ซึ่งบริษัทตั้งใจที่จะเป็นบริษัท Combine Petroium ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่จะต้องมีส่วนพลังงานทดแทนประมาณ 10-20%ของผลิตภัณฑ์รวมรับรู้รายได้ไบโอดีเซลปีหน้า

แผนธุรกิจปี 2551 บริษัทจะเน้นด้านเทรดดิ้งและหาลูกค้าเพิ่ม เพื่อสร้างปริมาณให้มากขึ้น โดยวางแผนไว้ 2 แนวทางคือ การเร่งเพิ่มจำนวนการขายสินค้า กับการหาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่ม ซึ่งบริษัทได้ศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

จากเดิมที่เคยมีผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด ตอนนี้มีประมาณ 7-8 ชนิดส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาสินค้าประเภทใหม่ๆ เตรียมไว้เมื่อธุรกิจน้ำมันผันผวน จะหันไปให้ความสำคัญธุรกิจปิโตรเคมี แทนเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการรุกไปทำธุรกรรมในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่งออกให้มากกว่า 20%

"โครงการผลิตไบโอดีเซล เป็นโครงการที่จะช่วยสร้างยอดขาย โดยเริ่มรับรู้ปีหน้า และจะทำให้มีรายได้พิเศษเข้ามา โดยปีแรกคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างยอดขายประมาณ 1 พันล้านบาท เพราะเริ่มผลิตได้เพียง 50% แต่ถ้าเดินเครื่องเต็มกำลังจะสร้างยอดขายปีละ 2 พันล้านบาท บนสมมติฐานราคาลิตรละ 25 บาท ส่วนการรับรู้กำไรจากโครงการไบโอดีเซล จะอยู่ที่ 100-200 ล้านบาท

ศุภพงศ์ ยืนยันว่า ผลประกอบการปีนี้ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งบริษัทจะมีกำไร และไม่มีปัญหาในเรื่องวัตถุดิบเหมือนปีก่อน โดยเฉพาะความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นจะดีขึ้นกว่าปีก่อน เพราะเราสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายและควบคุมต้นทุนได้

แผนการเปิดให้บริหารสถานีน้ำมัน แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น บริษัทยังมั่นใจว่าจะสามารถเปิดสถานีบริการได้ตามที่คาดไว้ ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันแล้ว 75 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมีเพียง 30 แห่ง และเชื่อว่าปีหน้าจะบรรลุเป้าหมายครบ 100 แห่งในปีนี้

ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมัน

ศุภพงศ์ บอกว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าราคาน้ำมันภายในสิ้นปีนี้ถึงกลางปีหน้า น่าจะยืนไม่เกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถึงแม้จะมีโอกาสไปแตะระดับดังกล่าวแล้ว แต่สิ้นปีน่าจะมีการอ่อนตัวลงมา เพราะเป็นช่วงสิ้นปี ตามวงจรปกติเดือนธ.ค.ราคาจะขยับลงมา เพราะความต้องการใช้น้อยลง ขณะที่แรงเก็งกำไรไม่น่าจะรุนแรง เพราะส่วนใหญ่มีการซื้อสต็อกน้ำมันไว้หมดแล้ว ทำให้เป็นผลทางจิตวิทยาราคาน่าจะลดลง

"ระยะสั้นเชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบถึงแม้จะแตะที่ระดับ100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็จะอ่อนตัวลงมา ซึ่งน่าจะเป็นจุดสูงสุดของปีนี้แล้ว ไม่น่าจะไปแรงกว่านี้ในความคิดส่วนตัว ถ้ามีกฎหมายระหว่างชาติไม่ให้กักตุนก็น่าจะเป็นผลดี แต่คงเป็นเรื่องยาก แต่ยังเชื่อว่าจากนี้ไปในระยะยาวถึงกลางปีหน้า ราคาน้ำมันดิบก็น่าจะยืนเหนือ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนดีเซลน่าจะอ่อนตัวลงมาบ้างช่วงสิ้นปี แต่ก็จะยืนเหนือ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล"

ส่วนค่าการกลั่นเฉลี่ยในระยะกลางถึงระยะยาวน่า จะอยู่ในกรอบ 6-8 ดอลลาร์ ขณะที่ปีนี้อยู่ที่ 4-7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนของ RPC ค่อนข้างจะนิ่งและยืนระดับ 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปถึง 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ แต่จะเกิดขึ้นในภาวะปกติที่มีการเก็งกำไรสูง หากในภาวะปกติไม่มีการเข้ามาเก็งกำไรมากเกินไป ค่าการกลั่นปีหน้าควรจะอยู่ที่ 4-5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นระดับที่เหมาะสม ดังนั้นผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นยังจะมีผลประกอบการที่ดี แม้ระหว่างทางอาจจะมีความผันผวนบ้างก็ตาม

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย นงนภัส ปิฐปาตี
วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550